บทความเรื่องชา

ชา เป็นผลผลิตทางเกษตรกรรมจากใบ ยอดอ่อน และก้านของต้นชา (Camellia sinensis) นำมาผ่านกรรมวิธีแปรรูปหลากหลาย “ชา” ยังหมายรวมถึงเครื่องดื่มกลิ่นหอมที่ทำจากพืชตากแห้งชนิดต่าง ๆ นำมาชงหรือต้มกับน้ำร้อน ชาเป็นเครื่องดื่มที่มีผู้บริโภคมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากน้ำ[1]

ชาแบ่งหยาบ ๆ ได้ 6 ประเภท ได้แก่ ชาขาว, ชาเหลือง, ชาเขียว, ชาอูหลง, ชาดำ และชาผู่เอ๋อร์[ต้องการอ้างอิง] ชาทุกชนิดสามารถทำได้จากต้นชาต้นเดียวกัน แต่ผ่านกรรมวิธีแตกต่างกันออกไป

การจัดประเภทและการแปรรูป

ชา ถูกจัดประเภทตามกระบวนการแปรรูป หลังจากการเก็บเกี่ยว ใบของต้นชาจะถูกทิ้งให้สลด และ “บ่ม” โดย ทำให้เอนไซม์ในใบชาเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับออกซิเจนในอากาศ ใบชาจะมีสีเข้มขึ้น คลอโรฟิลล์ในใบชาจะแตกตัว กลายเป็นสารแทนนินที่ให้รสฝาด ต่อจากนั้น ต้องหยุดการทำงานของเอนไซม์ โดยใช้ความร้อน เพื่อให้หยุดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น โดยในชาดำ กระบวนการนี้จะดำเนินคู่กันไปกับการทำให้แห้ง

หากไม่ระมัดระวังในการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิระหว่างกระบวนการผลิต ใบชาอาจขึ้นรา เกิดปฏิกิริยาสร้างสารพิษที่อาจเป็นสารก่อมะเร็งขึ้นได้ ทำให้รสชาติเสียไป และอันตรายต่อการบริโภค

ชา สามารถจัดประเภทตามกระบวนการแปรรูปต่างๆ ได้ดังนี้ต่อไปนี้

  • ชาขาว: ตูมชาและยอดอ่อนชาที่ถูกทิ้งให้สลด แต่ไม่ได้บ่ม เมื่อชงชาแล้วจะได้ครื่องดื่มที่มีสีเหลืองอ่อน
  • ชาเหลือง: ใบชาที่ไม่ได้ถูกทิ้งให้สลด และไม่ได้บ่ม แต่ทิ้งใบชาให้เป็นสีเหลือง
  • ชาเขียว: ใบชาที่ไม่ได้ถูกทิ้งให้สลดและไม่ได้บ่ม เมื่อชงจะได้เครื่องดื่มสีเขียวอ่อน
  • ชาแดง: ใบของชาเขียวที่ผ่านกระบวนการออกซิเดชั่นหรือการหมัก จนได้เป็นใบชาสีเข้ม เมื่อชงจะได้เครื่องดื่มสีน้ำตาลแดง
  • ชาอูหลง: ใบชาที่ทิ้งให้สลด นวด และบ่มเล็กน้อย เรียกได้ว่าเป็นชาประเภทกึ่งหมักหรือชาที่ผ่านการหมักเพียงบางส่วน ทำให้มีสี กลิ่นหอม และ รสชาติ อยู่ระหว่าง ชาเขียว และ ชาดำ [2]
  • ชาดำ: ใบชาที่ทิ้งให้สลด (อาจมีการนวดอย่างแรง) และผ่านการบ่มเต็มกระบวนการ เครื่องดื่มที่ได้มีสีแดงเข้มจนถึงสีดำ
  • ชาหมัก: ชาเขียวที่ผ่านกระบวนการหมักนานนับปี

ประวัติ

มีต้นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออก คือ จีน และอินเดีย แต่ในปัจจุบันมีปลูกกันทั่วไปในหลายประเทศสำหรับประเทศไทยมี ปลูกมากในจังหวัด เชียงใหม่ ชาจะเจริญงอกงามได้ดีในที่สูงตามภูเขาซึ่งมีดินอุดมสมบูรณ์และฝนตกชุก ใบชาเมื่อเก็บมาจากต้นแล้ว จะต้องรีบทำให้แห้งโดยเร็ว โดยนำมาให้ความร้อนเพื่อทำลายเอนไซม์ในใบชาให้หมดไปทำให้ไม่เกิดการเสีย ในใบชาจะประกอบด้วย กรด แกลโลแทนนิด (Gallotannic acid) 15% ซึ่งจะให้สารแทนนินออกมา โดยทั่วไปนิยมชงใบชา กับน้ำดื่มเพื่อกระตุ้นให้ไม่ง่วงนอน และนอกจากนี้ยังรักษาโรคท้องร่วงได้ คนไทยในภาคเหนือนิยมเคี้ยวและอม แทนการกินหมาก

ตำนาน

ตำนานของจีนเกี่ยวกับชาที่นิยมเล่าขานกันเรื่องหนึ่ง มีอยู่ว่า เมื่อประมาณ 2,737 ปีก่อนคริสต์ศักราช ขณะที่เสินหนง ฮ่องเต้ในตำนานของจีน ผู้คิดค้นเกษตรกรรม และยาจีน กำลังเสวยน้ำร้อนถ้วยหนึ่งอยู่นั้น ใบไม้จากต้นไม้แถวนั้นก็ได้ร่วงลงในถ้วยใบฮ่องเต้ สีของน้ำในถ้วยก็เปลี่ยนไป ฮ่องเต้ก็ได้เสวยน้ำนั้นอีก และทรงประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งว่าน้ำนั้นกลับมีรสชาติดี และทรงรู้สึกสดชื่นอีกด้วย อีกตำนาน เล่าว่า ขณะที่เสินหนงฮ่องเต้ทรงกำลังทดลองสรรพคุณของสมุนไพรต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองอยู่นั้น พระองค์ทรงค้นพบว่าสมุนไพรบางชนิดเป็นพิษ แต่ชาก็เป็นยาถอนพิษนั้นได้ ในงานประพันธ์ของ ลู่อวี่ (陆羽, Lù Yǔ) เรื่อง ฉาจิง (茶经, 茶經, chájīng) ก็ได้มีการกล่าวถึงเสินหนงฮ่องเต้เช่นกัน ตำนานที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอีกตำนานหนึ่ง เล่าว่า เทพแห่งเกษตรกรรม ได้เคี้ยวพืชต่าง ๆ เพื่อทดสอบหาสรรพคุณของสมุนไพร ท่านเทพก็ได้ใช้ใบชาเป็ยาถอนพิษด้วยเช่นกัน

ยังมีอีกตำนานที่ย้อนไปในสมัยราชวงศ์ถัง พระโพธิธรรม ผู้ก่อตั้งนิกายเซน ได้เผลอหลับไปหลังจากการทำสมาธิหน้ากำแพงเป็นเวลาเก้าปี เมื่อท่านตื่นขึ้น ก็ได้ละอายต่อความง่วงของตนเอง จึงตัดเปลือกตาของท่านออกทั้งสองข้าง เปลือกตานั้นได้ตกลงบนพื้นดินและแทงราก ต่อมาจึงเติบโตเป็นต้นชา

แม้ว่าตำนานเหล่านี้จะไม่มีเค้าโครงความเป็นจริง แต่ชาก็มีบทบาทอย่างสูงต่อวัฒนธรรมของชาติเอเชียมาหลายศตวรรษ ในฐานะที่เป็นเครื่องดื่มหลักในชีวิตประจำวัน ยารักษาโรค หรือแม้แต่สัญลักษณ์แสดงฐานะ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยที่บ่อยครั้ง ตำนานเหล่านี้จะกำเนิดบนพื้นฐานทางศาสนาและพระมหากษัตริย์

จีน

ชาวจีนรู้จักการบริโภคชามาแล้วกว่าพันปี ชาวบ้านในสมัยราชวงศ์ฮั่นใช้ชาเป็นยารักษาโรค (แม้ว่าการดื่มชาเพื่อช่วยให้กระปรี้กระเปร่านั้นเริ่มขึ้นเมื่อใด) จีนถือเป็นประเทศแรกที่รู้จักการดื่มชา โดยมีหลักฐานมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 ก่อนคริสต์ศักราช

ญี่ปุ่น

ในยุคเฮอัน พระเอไซ[3]ได้เดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาที่จีน ในยุคเฮอัน หรือสมัยราชวงศ์ถังของจีน ได้นำมาปลูกในญี่ปุ่น รวมถึงเมืองอุจิใกล้กับกรุงเฮอันซึ่งเป็นเมืองหลวงในสมัยนั้น (เกียวโตในปัจจุบัน) จนมีการส่งชาเข้าวังและผลิตเพื่อการค้า เกิดวัฒนธรรมชาญี่ปุ่น และนำไปสู่การพัฒนาการปลูกชา รวมถึงการแข่งประกวดชาชนิดต่าง ๆ ในญี่ปุ่นปัจจุบัน

การผลิต

ชาดำ

การผลิตชาดำ ทำได้โดยการนำใบชาดำมาทำให้แห้งโดยการรีดน้ำที่หล่อเลี้ยงให้ใบชาชุ่มชื้นออกมาเพื่อทำให้ใบชาเหี่ยวและอ่อนลีบ โดยใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 16 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงนำใบชาที่แห้งแล้วนั้นมากลิ้งด้วยลูกกลิ้ง บดและฉีก ต่อจากนั้นจึงนำไปหมัก ซึ่งหลังจากกระบวนการหมักทั้งสิ้นแล้ว จะได้ใบชาที่แห้งสนิท

ชาอูหลง

การผลิตชาอูหลง ผ่านกระบวนการผลิตด้วยการหมักแต่เพียงครึ่งหนึ่ง จึงทำให้รสชาติและสรรพคุณอยู่ระหว่างชาดำและชาเขียว กระบวนการผลิตชาอูหลงเริ่มจากนำใบชามาทำให้แห้งลีบโดยใช้เวลาทั้งสิ้น 6 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงนำไปกลิ้งด้วยลูกกลิ้ง ฉีก และหมักด้วยระยะเวลาสั้น ๆ

ชาเขียว

การผลิตชาเขียว ทำโดยนำใบชาเขียวมาอบไอน้ำ หลังจากนั้นจึงนำไปกลิ้งด้วยลูกกลิ้งและทำให้แห้งอย่างรวดเร็ว ด้วยวิธีการดังกล่าว จึงทำให้ใบชายังคงมีสีเขียว จากกระบวนการผลิตที่ง่ายและน้อยขั้นตอน ทำให้ชาเขียวยังคงมีสารในพืชที่มีประโยชน์หลงเหลืออยู่มากกว่าชาชนิดอื่น ๆ

ชาขาว

กระบวนการผลิตชาเริ่มจากตูมชาจะถูกเก็บและนำมาผ่านกระบวนการอบไอน้ำในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อรักษากลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว หลังจากนั้นผ่านกระบวนการทำแห้งและบดเป็นผงละเอียด ทำให้เกิดเครื่องดื่มลักษณะใส สีเหลืองอ่อน

ชาเหลือง

โดยส่วนมาก ชาเหลืองจะเป็นการนำใบชาเขียวและชาขาวมาปล่อยไว้ให้ใบชาเริ่มออกสีเหลือง ซึ่งวิธีการปล่อยไว้ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละไร่ชาแต่ละที บ้างก็นำไปวางทับถมกันไว้ในที่ที่อุณหภูมิที่จะทำชาปล่อยให้ชาโดนอากาศสักระยะก่อนจะนำมาทำให้ใบชาแห้ง

ชาหมัก

ชาหมัก คือ ชาที่มีการหมัก ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าชาจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ไม่หมัก กึ่งหมัก หมัก ไม่หมัก คือ ชาเขียว ชาขาว ชาเหลือง กึ่งหมัก คือ อู๋หลง หมัก คือ ชาแดง ชาดำ ชาผู๋เอ๋อ เพราะฉะนั้น ชาหมักก็คือชา อู๋หลง ชาแดง ชาดำ แต่ชาอู๋หลงก็จะมีการหมักที่แตกต่างกันออกไป จะขึ้นอยู่กับว่าไร่ชาจะผลิตชาตัวไหน เพราะชาก็เก็บจากต้นเดียวกัน จะต่างกันตรงที่กรรมวิธีการผลิต

ชาสมุนไพร

อันที่จริงแล้วชาประเภทนี้ไม่ได้ทำจากใบชา แต่มักจะทำจากสมุนไพร ดอกไม้ ตากแห้งต่างๆ อาทิ ชาตะไคร้ ชาใบเตย ชาดอกคาโมมาย ชาดอกคำฝอย ชาดอกอัญชัญ ชากระเจี๊ยบ เป็นต้น ซึ่งชาเหล่านี้นอกจากจะทำเป็นเครื่องดื่มแก้กระหายแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยาอีกด้วยและข้อดีคือไม่มีส่วนผสมของคาเฟอีนเหมือนในชาที่ทำจากใบชาอีกด้วย