บทความเรื่องจิตรกรรม

จิตรกรรม (อังกฤษ: painting) เป็นงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการวาด ระบายสี และการจัดองค์ประกอบความงามอื่น เพื่อให้เกิดภาพ 2 มิติ ไม่มีความลึกหรือนูนหนา จิตรกรรมเป็นแขนงหนึ่งของทัศนศิลป์ ผู้ทำงานจิตรกรรม มักเรียกว่า จิตรกร

จอห์น แคนาเดย์ (John Canaday) ได้ให้ความหมายของจิตรกรรมไว้ว่า จิตรกรรม คือ การระบายชั้นของสีลงบนพื้นระนาบรองรับ เป็นการจัดรวมกันของรูปทรง และ สีที่เกิดขึ้นจากการเตรียมการของศิลปินแต่ละคนในการเขียนภาพนั้น พจนานุกรมศัพท์ อธิบายว่า เป็นการสร้างงานทัศนศิลป์บนพื้นระนาบรองรับ ด้วยการ ลาก ป้าย ขีด ขูด วัสดุ จิตรกรรมลงบนพื้นระนาบรองรับ

ภาพจิตรกรรมที่เก่าแก่ที่สุดที่เป็นที่รู้จักอยู่ที่ถ้ำ Chauvet ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนอ้างว่ามีอายุราว 32,000 ปีเป็นภาพที่สลักและระบายสีด้วยโคลนแดงและสีย้อมดำ แสดงรูปม้า แรด สิงโต ควาย แมมมอธ หรือมนุษย์ ซึ่งมักจะกำลังล่าสัตว์

การจำแนก

จำแนกได้ตามลักษณะผลงานที่สิ้นสุด และ วัสดุอุปกรณ์การสร้างสรรค์เป็น 2 ประเภท คือ ภาพวาด และ ภาพเขียน

จิตรกรรมภาพวาด (Drawing)

จิตรกรรมภาพวาด เรียกเป็นศัพท์ทัศนศิลป์ภาษาไทยได้หลายคำ คือ ภาพวาดเขียน ภาพวาดเส้น หรือบางท่านอาจเรียกด้วยคำทับศัพท์ว่า ดรอว์อิง ก็มี ปัจจุบันได้มีการนำอุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ใช้ในการเขียนภาพและวาดภาพ ที่ก้าวหน้าและทันสมัยมากมาใช้ ผู้เขียนภาพจึงจึงอาจจะใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ มาใช้ในการเขียนภาพ ภาพวาดในสื่อสิ่งพิมพ์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ภาพวาดลายเส้น และ การ์ตูน (ปัจจุบันเฉพาะทางภูมิศาสตร์)

จิตรกรรมภาพเขียน (Painting)

ภาพเขียนเป็นการสร้างงาน 2 มิติบนพื้นระนาบด้วยสีหลายสีซึ่งมักจะต้องมีสื่อตัวกลางระหว่างวัสดุกับอุปกรณ์ที่ใช้เขียนอีก ซึ่งกลวิธีเขียนที่สำคัญ คือ

  • การเขียนภาพสีน้ำ Water Colour Painting)
  • การเขียนภาพสีน้ำมัน (Oil Painting)
  • การเขียนภาพสีอะคริลิก (Acrylic Painting)
  • การเขียนจิตรกรรมฝาผนัง (Fresco Painting)
  • จิตรกรรมแผง (Panel Painting)

จำแนกตามยุคสมัยและแหล่งสร้างสรรค์ เช่น

  • จิตรกรรมไทย
  • จิตรกรรมกอทิก
  • จิตรกรรมบาโรก
  • จิตรกรรมลัทธิประทับใจ
  • จิตรกรรมลัทธิประทับใจยุคหลัง
  • จิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก
  • จิตรกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา
  • จิตรกรรมจริตนิยม
  • จิตรกรรมสมัยใหม่ยุคพัฒนา